วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ศิลปะตะวันตกครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน ( Post-modernism)

ศิลปะปอปอาร์ต (Pop Art)

                  ศิลปะปอปอาร์ต (Pop Art)  เป็นแบบอย่างของศิลปะที่สร้างความตื่นเต้นพุ่งขึ้นมาทันทีทันใดแก่ผู้พบเห็น อันมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคนทั้วๆไป เป็นเรื่องราวที่แสดงความเป็นอยู่ปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับ ศาสนา ความเชื่อ หรือ โบราณนิยายอย่างแต่ก่อนๆ ใช้เทคนิคตามแบบอย่างศิลปะแอบสแตรค และเอ็กซเพรสชั่นนิสม์ ศิลปินกลุ่มนี้ล้วนเป็นศิลปินรุ่นหนุ่ม ล้วนมีความคิดแปลกใหม่ ก้าวหน้า มีความเชื่อเกี่ยวกับศิลปะว่า ศิลปะ “สร้างขึ้นมาจากสัพเพเหระของชีวิตปัจจุบัน ในช่วงระยะหนึ่ง เวลาหนึ่ง ซึ่งสะท้อนความรู้พื้นฐานธรรมดา ที่ศิลปินมีส่วนร่วมอยู่ด้วย” ทางด้านเทคนิค ใช้เทคนิคทุกอย่างของแอบสแตรค เช่น วิธีหยด สลัก ป้าย เส้นรอบนอกคม ตามที่ศิลปินต้องการ ทางด้านเรื่องราวก็พยายามเน้นรูปวัตถุให้คมชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น และบางทีก็มีความหมายเสียดสีสังคม สะท้อนสังคมยุคปัจจุบันด้วย

          ศูนย์กลางความเจริญทางด้านศิลปะวัฒนธรรมอยู่ที่ยุโรปยาวนานร่วมๆพันปีนับตั้งแต่ยุคกลางมา แต่พอมาถึงศตวรรษที่ 20 ฝั่งเอมริกาก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และวัฒนธรรมของอเมริกาก็ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดเป็นสื่อนำ ภาพยนตร์นี้ก่อให้เกิดดารา แฟชั่น การโฆษณา และเพลงประกอบ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนรุ่นใหม่ไปทั่วทั้งโลก ป็อบอาร์ตถือกำเนิดขึ้น ป็อบอาร์ตเป็นแบบอย่างของศิลปะที่สะท้อนพลังสภาพแท้จริงของสังคมปัจจุบัน ตามความรู้สึกความเข้าใจของสามัญชนทั่วไป ในชั่วขณะหนึ่ง เวลาหนึ่ง เป็นศิลปะที่เกี่ยวกับความชุลมุนวุ่นวายของสังคม พลุ่งประดุจพลุ ชอบวันนี้ พรุ่งนี้ลืม เป็นต้น
         
          กลุ่มศิลปินที่สร้างสรรค์งานชนิดนี้เชื่อว่า ศิลปะสร้างขึ้นจากสิ่งสรรพเพเหระของชีวิตประจำวัน เป็นการแสดงความรู้สึกของประสบการณ์ที่พบเห็นของศิลปินในช่วงเวลานั้น ขณะนั้น ณ ที่แห่งนั้น เรื่องราวที่ศิลปินนำเสนอมีแตกต่างกันไป เช่นบางคนเขียนเรื่องเกี่ยวกับ ดารายอดนิยม บ้างก็เขียนเรื่องเครื่องจักร บ้างก็เขียนภาพโฆษณา เรื่องง่ายๆใกล้ๆตัวจึงทำให้หลายๆคนเห็นว่างานแนวนี้ไม่ควรค่าแก่คำว่าศิลปะ เพราะมันเป็นความนิยมแค่ชั่ววันชั่วคืน ตื่นเต้นฮือฮาพักหนึ่งก็จางหาย

          อย่างไรก็ตามกลุ่มที่นิยมในแนวนี้ก็ยังคงยืนยันว่ามันคือศิลปะ เขาอ้างว่า สิ่งเหล่านี้เป็นศิลปะแน่นอน เพราะผลงานนั้นกระตุ้นให้เราตอบสนองทางความรู้สึกอย่างนั้น ที่จริงแล้ว สิ่งที่เรารู้ว่าเป็นศิลปะ คือสิ่งที่ศิลปินสร้างสรรค์ พวกเขามีความเชื่อเกี่ยวกับสุนทรียภาพว่า สุนทรียภาพ คือความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับสภาพต่างๆที่ปรากฎในโลกของอุตสาหกรรม โลกชนบท และโลกเศรษฐกิจ ศิลปินพยายามตอบสนองโลกที่แวดล้อมภายนอกเหล่านี้โดยแสดงความรู้สึกด้วยภาพ ซึ่งใช้วิธีการของแอบแสตรกบ้าง เอกซเพรสชั่นนิสม์บ้าง คิวบิสม์บ้างตามความเหมาะสม

         ในด้านดนตรีฝั่งอเมริกา เพลงมีฟอร์มการบรรเลงที่กระชับ จำง่าย มีความยาว 2-3 นาที แรกเริ่มเดิมทีเป็นดนตรีที่ใช้ในการเต้นรำ ในยุคทศวรรษที่ 20-30 ดนตรีสวิงเป็นที่นิยมกันมาก ในยุคนั้นจัดว่าเพลงสวิงคือเพลงป็อบชนิดหนึ่ง คำว่าป็อบ (pop) เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างพลุ่งพล่าน ในช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้นถ้าใครเข้าใจว่าเพลงป็อบเป็นเพลงสไตล์หนึ่งก็แปลว่าเข้าใจผิด สไตล์ของเพลงจำแนกได้จากริทึ่มและการเรียบเรียง ริทึ่มป็อบนี่ไม่มี มีแต่ริทึ่มบลูส์ ร็อค สวิง ฯลฯ แต่ถ้าเพลงต่างๆเหล่านั้นเป็นที่นิยมกันก็จะเรียกว่าเพลงป็อบ สวิงเป็นยุคหนึ่งของแจ๊ส เพลงแจ๊สมีการพัฒนาอย่างหลากหลายและยาวนาน ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็ใช้เพลงแจ๊สประกอบอยู่เป็นประจำ หลายเพลงก็ได้รับความนิยมจนกลายเป็นเพลงอมตะไป จวบจนทุกวันนี้ก็ยังมีดนตรีแจ๊สสอดแทรกอยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่อง บางคนอาจจะไม่รู้
          นับจากทศวรรษที่ 50 เป็นต้นมา ดนตรีอเมริกาเริ่มใช้ริทึ่มที่หนักแน่นขึ้น ดนตรีร็อคเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ทศวรรษที่ 70 ดนตรีโซล ฟังค์ อาร์แอนด์บี ก็โดดเด่นขึ้นมา จากนั้นก็เป็นดิสโก และนับเป็นรากฐานสำคัญสำหรับเพลงป็อบในปัจจุบัน (อย่างพวกบอยแบนด์เป็นด้น) ปัจจุบันเพลงป็อบซึ่งเป็นรูปแบบดนตรีของอเมริกาได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพลงที่แต่งขึ้นในเชิงพาณิชย์ไม่ว่าจะชนชาติใด ต่างก็ใช้รูปแบบของดนตรีอเมริกันทั้งสิ้น   (http://www.artofcolour.com/)

          พ็อพ อาร์ต เป็นศิลปะที่เฉลิมฉลองวัฒนธรรมพ็อพ (พ็อพพูลาร์ คัลเจอร์) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมระดับมหาชน ที่ถูกจัดว่าเป็นวัฒนธรรมหรือศิลปะระดับล่าง โดยมีศิลปะชั้นสูงเป็นขั้วตรงกันข้าม ศิลปะชั้นสูงที่ว่านี้คือ บรรดางานศิลปะที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นของดีมีคุณภาพ แต่ละชิ้นมีความเป็นต้นแบบต้นฉบับ มีเพียงหนึ่งเดียวไม่เหมือนใคร มีคุณค่าเสียจนสถาบันศิลปะหรือสถาบันระดับรัฐต้องซื้อเก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์ของประเทศชาติ

          ระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษ 1940-1950 แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) กระเสือกกระสนแสวงหาชื่อเสียงและการยอมรับ จนกระทั่งนักวิจารณ์ยกย่อง พิพิธภัณฑ์ซื้องานเพื่อเปิดแสดง แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจ ภาพเขียน แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ กลายเป็นศิลปะสมัยใหม่ชั้นสูง เป็นสิ่งที่จำกัดอยู่ในชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดี เป็นของจำเพาะสำหรับคนในวงการศิลปะตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมพ็อพ ที่เป็นวิถีปฏิบัติและรสนิยมแบบตลาดดาษดื่น เป็นวัฒนธรรมแห่งการเสพสินค้าที่ผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรม มีจำนวนมากๆ ทุกชิ้นผลิตออกมาเหมือนกัน คนหมู่มากซื้อมาใช้เหมือนกันไปหมด เทียบไม่ได้กับงานฝีมือ งานสร้างสรรค์ชั้นสูง

          

 แคลส์ โอลเดนเบอร์ก (Claes Oldenburg)


    


         แคลส์ โอลเดนเบอร์ก (Claes Oldenburg)ตอบสนองอาหารสำเร็จรูปที่คนชอบให้เห็นได้เป็นก้อนโต เพื่อชี้แจงให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญ และตื่นเต้น เช่น ทำรูปแฮมเบอร์เกอร์ ขนาดยักษ์ด้วยหมอน เป็นต้น

          เเคลส์ โอลเด็นเบิร์ก (Claes Oldenberg) ปฏิเสธเรื่องราวยิ่งใหญ่แบบคลาสสิคมหากาพย์ทั้งหลาย โอลเด็นเบิร์ก หยิบจับเอาข้าวของในชีวิตประจำวันสมัยใหม่ เช่น ไม้หนีบผ้ากระดุม ก็อกน้ำและสายยาง และขนมพายมาทำประติมากรรม ขยายขนาดจนใหญ่โตมโหฬาร เรียกรอยยิ้มจากคนดูได้เป็นอย่างดี นอกจากทำของเล็กให้ใหญ่โตแล้ว โอลเด็นเบิร์ก ยังทำงานอีกชุดที่เป็น ประติมากรรมอ่อนนุ่ม (soft sculpture) เขานำเอาข้าวของเครื่องใช้กระจุกกระจิกมาขยายใหญ่โตเกินปกติ และยังใช้วัสดุนุ่มนิ่มมาสร้างประติมากรรม ทำให้สิ่งของเหล่านั้นอ่อนปวกเปียกผิดธรรมชาติของวัตถุต้นแบบนั้นๆ เรียกได้ว่า ท้าทายการคิดการทำประติมากรรมในแบบจารีตประเพณีมากๆ เลยทีเดียว
          แม้ว่าความเคลื่อนไหวของ พ็อพ อาร์ต จะมีความตื่นตัวที่สุดในราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่แนวทางของ พ็อพ อาร์ต ยังคงร่วมยุคร่วมสมัยกับสังคมและวงการศิลปะในปัจจุบันเป็นอย่างดี เพราะพวกเรายังอยู่ในสังคมยุควัฒนธรรมพ็อพ หรือตามที่มีเสียงกระหึ่มดังว่าเป็นสังคมยุค หลังสมัยใหม่ (โพสต์โมเดิร์น) กันไปแล้ว เป็นยุคสมัยที่อะไรๆ จากยุคสมัยใหม่ก็ถูก "ถอดรื้อ" และถูกตรวจสอบไปเสียหมด เป็นยุคที่อะไรๆ ก็ถูก "ทำให้พ็อพ" ของสูงก็ถูกทำให้กลายเป็นของสามัญ กลายเป็นสินค้าสำหรับซื้อขายไปเสียทุกอย่าง


ตัวอย่างภาพ : ศิลปะปอปอาร์ต (Pop Art)

 



**********************************

1 ความคิดเห็น:

  1. ศิลปะปอปอาร์ต (Pop Art)

    เหตุผลที่เลือกแบบศิลปะปอปอาร์ต....

    ที่เลือกศิลปะแบบปอปอาร์ตเพราะชอบความคิดในการออกแบบของศิลปะประเภทนี้ ซึ่งเป็นแบบอย่างของศิลปะที่สร้างความตื่นเต้นพุ่งขึ้นมาทันทีทันใดแก่ผู้พบเห็น อันมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคนทั้วๆไป เป็นเรื่องราวที่แสดงความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ใช้เทคนิคตามแบบอย่างศิลปะแอบสแตรค และเอ็กซเพรสชั่นนิสม์ ศิลปินกลุ่มนี้ล้วนเป็นศิลปินรุ่นหนุ่ม ล้วนมีความคิดแปลกใหม่ ก้าวหน้า
    โดยเฉพาะแนวคิดของ แคลส์ โอลเดนเบอร์ก (Claes Oldenburg)ที่ออกแบบศิลปะรูปร่างของอาหารสำเร็จรูปที่คนชอบให้เห็นได้เป็นก้อนโต เพื่อชี้แจงให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญ มองแล้วตื่นเต้น เช่น ทำรูปแฮมเบอร์เกอร์ ขนาดยักษ์ด้วยหมอน เป็นต้น ซึ่งสร้างความร้าวใจและความแปลกประหลาดให้กับผู้พบเห็น ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าสามารถสร้างศิลปะจากอาหารที่เรารับประทานอยู่มาทำเป็นสิ่งประหลาดก้อนโตโดยการออกแบบมาในรูปทรงต่างๆ ได้อย่างสวยงามและแปลกใหม่ ซึ่งเป็นศิลปะที่นิยมชนิดหนึ่งของประชาชน....

    พิมพ์ธิรา อินทร

    ตอบลบ